เว็บไซต์นี้อัพเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อ มีนาคม 2566 สามารถดูเวอร์ชันอัพเดตได้ที่ https://parliamentwatch.wevis.info/
THEY WORK FOR US

บันทึกการประชุมและการลงมติ

นับตั้งแต่เปิดประชุมสภาหลังการเลือกตั้ง มีการประชุมสภามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ละครั้งก็มีหลายวาระ และใช้ระยะเวลาในการประชุมยาวนาน จนบางทีเราก็ตามไม่ทันว่ามีการลงมติครั้งสำคัญเกิดขึ้นในการประชุมครั้งไหนในสภาบ้าง? ใครยกมือสนับสนุนหรือคัดค้านมติไหน? เราจึงรวบรวบการลงมติครั้งสำคัญมาให้ พร้อมอธิบายสรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ว่าสิ่งที่ผู้แทนแต่ละคนสนับสนุนหรือคัดค้านคืออะไร

สรุปผลการลงมติล่าสุด

92% เห็นด้วย

ร่าง พ.ร.บ. ประชามติ (วาระ 1)

ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดวิธีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งออกเป็นการทำประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดว่า กรณีที่มีการแก้บทบัญญัติใน หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือบทบัญญัติอื่นๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล องค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้ ต้องจัดทำประชามติ กับอีกกรณีคือ การออกเสียงประชามติเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้มีการระบุขอบเขตของเรื่องไว้ว่าจะทำได้ในกรณีใดบ้าง แต่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ได้กำหนดว่า กรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ดังนั้นการจัดทำประชามติที่ริเริ่มโดยคณะรัฐมนตรี จึงต้องเป็นเรื่องที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย

ผ่าน
เห็นด้วย 561
ไม่เห็นด้วย 2
งดออกเสียง 50
ไม่ลงคะแนน 0
1.12.2020

97% เห็นด้วย

ร่าง พ.ร.บ. หอการค้า (วาระ 1)

ร่าง พ.ร.บ.หอการค้า มีการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของหอการค้าโดยเพิ่มหน้าที่ในการจัดทำและรับรองเอกสารที่ใช้ในทางการค้าระหว่างประเทศ การรับรองลายมือชื่อของบุคคลในเอกสาร การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางการค้า และการทำความตกลงหรือความร่วมมือกับทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ อีกทั้ง ยังกำหนดให้การเลิกหอการค้าต้องกระทำโดยมติของที่ประชุมใหญ่และต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด

ผ่าน
เห็นด้วย 307
ไม่เห็นด้วย 3
งดออกเสียง 3
ไม่ลงคะแนน 3
26.11.2020

96% เห็นด้วย

ร่าง พ.ร.บ.กสทช. (วาระ 3)

ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ได้แก้ไขคุณสมบัติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจกาจโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ว่า ต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ นอกจากนี้ยังขยายสิทธิการสมัครรับคัดเลือกเป็นกสทช. ให้กับบรรดาผู้พิพากษา ข้าราชการตำรวจ-ทหาร และข้าราชการพลเรือน แต่ในขณะเดียวกันก็ตัดสิทธิผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนออก และยังเพิ่มเงื่อนไขสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารกิจการกระจายเสียงด้วยว่าต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 20 ปี เป็นต้น

ผ่าน
เห็นด้วย 338
ไม่เห็นด้วย 7
งดออกเสียง 4
ไม่ลงคะแนน 2
25.11.2020

79% เห็นด้วย

แก้ รธน. ฉบับที่ 1 ตั้ง สสร. เสนอโดยเพื่อไทย (โหวต 7 ฉบับ) (วาระ 1)

ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ภายใต้เงื่อนไขต้องดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันหลังจากเลือกตั้ง สสร. และการจัดทำรัฐูธรรมนูญฉบับใหม่ห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ

ผ่าน
เห็นด้วย 574
ไม่เห็นด้วย 21
งดออกเสียง 121
ไม่ลงคะแนน 13
18.11.2020

88% เห็นด้วย

แก้ รธน. ฉบับที่ 2 ตั้ง สสร. เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล (โหวต 7 ฉบับ) (วาระ 1)

ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 150 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และอีก 50 คนมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา ที่ประชุมอธิการบดี และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ภายใต้เงื่อนไขต้องดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันหลังจากเลือกตั้ง สสร. และการจัดทำรัฐูธรรมนูญฉบับใหม่ห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ

ผ่าน
เห็นด้วย 644
ไม่เห็นด้วย 17
งดออกเสียง 55
ไม่ลงคะแนน 13
18.11.2020

29% เห็นด้วย

แก้ รธน. ฉบับที่ 3 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ปฏิรูปประเทศ (โหวต 7 ฉบับ) (วาระ 1)

ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่สาม เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอให้ยกเลิกมาตรา 270 และ 271 หรือยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติและยกเลิกอำนาจในการเร่งรัดติดตามการปฏิรูปประเทศตามแผนปฏิรูปประเทศที่คณะกรรมการซึ่งมาจากคณะรัฐมนตรีที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนแต่งตั้ง รวมถึงยกเลิกช่องทางการออกกฎหมายแบบพิเศษที่เรียกว่า "กฎหมายปฏิรูป"

ไม่ผ่าน
เห็นด้วย 213
ไม่เห็นด้วย 34
งดออกเสียง 468
ไม่ลงคะแนน 13
18.11.2020
<12345678910111213141516171819202122232425262728293031323334>