58% เห็นด้วย
ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2566 (วาระ 3)
ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2566 ตั้งวงเงินไว้ที่ 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ(ฉบับปรับปรุง) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญของรัฐบาลแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในการดำเนินงบประมาณขาดดุล การเสริมศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดไวรัสโคโรนา
97% เห็นด้วย
ร่าง พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. (วาระ 3)
ร่าง พ.ร.บ. เวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 270 ด้านกระบวนการยุติธรรม โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สมควรที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบว่าหน่วยงานจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการได้รับความยุติธรรมโดยสะดวกและรวดเร็ว โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก โดยกำหนดให้มีการจัดระบบติดตาม ตรวจสอบ แจ้งความคืบหน้า เพื่อให้ได้รับทราบผ่านทางระบบเทคโนโลยีด้วย มีการกำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินคดี กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนกรณีได้รับความล่าช้า และมีการกำหนดให้เก็บข้อมูลสถิติระยะเวลาดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน เพื่อวัดผลเทียบกับขั้นตอนตามกรอบระยะเวลา พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนทราบทุกปี และให้มีมาตรการเพื่อพัฒนา ปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการอย่างน้อยทุก 3 ปี
98% เห็นด้วย
ร่าง พ.ร.บ. การปรับเป็นพินัย (วาระ 3)
ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เป็นร่างกฎหมายกำหนดมาตรการที่สร้างขึ้นใหม่ เรียกว่า “ปรับเป็นพินัย” เพื่อใช้แทนโทษทางอาญา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าปรับที่ต้องชำระ ให้เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำประกอบกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด กรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอทำงานบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์แทนชำระค่าปรับได้ แม้ปลายทางแล้วผู้กระทำความผิดยังคงต้องจ่ายเงินชำระค่าปรับ แต่เมื่อไม่ใช่โทษทางอาญา การจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับก็จะไม่ถูกนำมาใช้ อีกทั้งไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรมที่จะทำให้ประชาชนเสื่อมเสียประวัติโดยใช่เหตุ ทั้งนี้ การปรับเป็นพินัยจะใช้กับความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว ตามบรรดากฎหมายที่อยู่ในบัญชีท้ายร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยเท่านั้น
99% เห็นด้วย
ร่าง พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (วาระ 3)
พ.ร.บ. กา รปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ กฎหมายกลางในการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อต้องการส่งเสริมให้รูปแบบการทำงานและการให้บริการของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล โดยสอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน เป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการติดต่อราชการ การขออนุมัติ การอนุญาต ขึ้นทะเบียน จดทะเบียน การแจ้งเพื่อประกอบกิจการของประชาชน การรับเงิน และการออกใบเสร็จรับเงินของหน่วยงาน รวมทั้งลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพแก่การปฏิบัติราชการของภาครัฐในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว และลดปัญหาการทุจริต
90% เห็นด้วย
ถอน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้ กมธ. พิจารณาใหม่
ตามที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาแก้ไขมาตรา 23 ของร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ใช้วิธีหาร ด้วย 500 แทนการหาร 100 ตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอนั้น ทำให้ต้องแก้ไขเนื้อหามาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 23 ให้เกิดความสอดคล้องกัน จึงขอที่ประชุมรัฐสภาให้ กมธ.ปรึกษาหารือหาทางออกร่วมกันแก้บทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเสนอที่ประชุมรัฐสภาใหม่
44% เห็นด้วย
ลงมติไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ก.ค. 65)
พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งนายชลน่าน ศรีแก้ว กับส.ส. พรรคฝ่ายค้าน 186 คน เป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถูกกล่าวหาเรื่องแรก คือ ความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาค ที่ตกต่ำมาตลอดระยะเวลา 8 ปี โดยก่อนเกิดสถานการณ์โควิดจีดีพีประเทศที่ตกอยู่แล้วเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดยิ่งลงเหว ขณะที่สถานการณ์หลังโควิดก็ยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐาน หลายประเทศฟื้นขณะที่ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น รัฐบาลหาเงินไม่เป็น ใช้ไม่เป็น นอกจากบริหารเศรษฐกิจล้มเหลวโดยเฉพาะเรื่องของขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศแล้ว ยังล้มเหลวการแก้ปัญหาทางสังคม การศึกษา และล้มเหลวเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด มีพฤติการณ์ส่อทุจริต เอื้อพวกพ้อง เอื้อนายทุน ไม่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการแต่งตั้งลูกนายเสกสกล อัตถาวงศ์ เป็นราชการตำรวจ ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ทั้งยังละเมิดกฎหมายจริธรรม โดยเฉพาะการละเมิดอนุสัญญาเดี่ยวยาเสพติดให้โทษฯ ของยูเอ็น กรณีร่วมกับนายอนุทิน รองนายกฯ ปลดล็อกกัญชา รวมถึงการละเว้นปฏิบัติหน้าที่กรณีจ่ายค่าชดเชยคลองด่าน เช่นเดียวกับการใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเหมืองทองอัครา ทั้งยังล้มเหลวเรื่องการบริหารงานการต่างประเทศกรณีเครื่องบินเพื่อนบ้านบินล้ำน่านฟ้าไทย เป็นผู้นำที่ทำลายระบบประชาธิปไตย